18 สิงหาคม 2555 @ ซื้ออะไหล่ไฟหน้า และฟิวส์สำรองของปุยฝ้ายเอพีวี

สวัสดีครับเพื่อนๆ วันนี้ผมพาเพื่อนๆ มาซื้ออะไหล่รถ mini van ของ SUZUKI รุ่น APV แบบง่ายๆ เลยนะครับ เนื่องจากต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ผู้ช่วยของผม ซึ่งเป็นคนขับรถด้วย ที่สังเกตุเห็นว่าทำไมเวลาขับรถตอนดึกๆ ความสว่างถึงน้อยต้องใช้ไฟสูงช่วย ซึ่งตัวผมเองก็สังเกตุเห็นเป็นอย่างนั้นเช่นกัน แต่ตัวเองกลับไปตีความว่าสายตาไม่ดี จึงไม่ได้ทักท้วงน้องผู้ช่วย น้องผู้ช่วยจึงตรวจสอบดูพบว่าไฟหน้าข้างขวาไม่ติด หลังจากไปซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์เรียบร้อย ก็รีบมาแวะร้านอะไหล่กัน

ผมจำได้ตั้งแต่ก่อนรถคว่ำจนเป็นคนพิการรุนแรงว่า มีร้านขายอะไหล่รถยนต์อยู่ บนถนนบางกรวย-ไทรน้อย ที่จะวิ่งเข้าตลาดบางบัวทอง ซึ่งเป็นทางผ่านที่จะกลับบ้าน ในที่สุดก็เจอ ชื่อร้าน "ชัยเจริญยนต์ 2008" ก็ให้น้องผู้ช่วยเข้าไปซื้อเลย ทางร้านก็ออกมาช่วยดู และเพื่อความแน่นอน จึงเปิดหน้าเครื่องดู ทางร้านจึงหยิบมาให้ โดยเอาจำนวน 2 หลอด เพราะว่าต้องการให้ความสว่างเสมอกัน และจะเก็บหลอดเดิมไว้เป็นอะไหล่ต่อไป (ไม่รู้จะเก็บไว้ได้หรือเปล่า ก็จะลองเก็บๆ ไว้ก่อนครับ)

จากนั้นวิญญาณผู้ใช้รถมืออาชีพก็เข้าสิง เลยซื้ออะไหล่ฟิวส์เพิ่ม เพื่อเก็บเป็นอุปกรณ์สำรองไว้ เนื่องจากเคยมีปัญหาเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าของรถ 2 ครั้ง แล้วก็พบว่าเกิดจากฟิวส์ขาดจริงๆ ซึ่งเรื่องนี้ส่วนใหญ่ผู้ใช้รถทั่วไปอาจจะมองข้าม และมักจะไปให้ช่างตรวจเช็ค ซึ่งก็แน่นอนว่าจะโดนฟันค่าใช้จ่ายแบบไม่รู้ตัว และแต่ความปราณีของช่าง ที่จะเมตตาเราเท่าไหร่นะครับ

นึกไปนึกมา ผมเคยมีปัญหาเรื่องการเช็คลมยางพอดี จึงตัดสินใจซื้อเกจวัดลมยาง ไปด้วยเลยทีเดียว โดยมีค่าใช้จ่ายดังนี้ครับ
  • เกจวัดลมยางรถยนต์ 1 อัน ราคา 120 บาท ใช้งานง่ายแบบมีเกจวัดวงกลม เห็นตัวเลขชัดเจน
  • ฟิวส์ 8 ตัว ตัวละ 10 บา รวม 80 บาท
  • ไฟหน้า 2 หลอดๆ ละ 100 บาท รวม 200 บาท / รวมทั้งสิ้น 400 บาท
โดยน้องผู้ช่วย สามารถเปลี่ยนได้เอง แล้วจะนำภาพถ่ายมาฝากเพื่อนๆ นะครับ โดยผมจะให้น้องเขาช่วยถ่ายไว้ตอนขณะเปลี่ยนไฟหน้า เพื่อแบ่งปันเพื่อนๆ ด้วยกันครับ






เกจวัดลมยางรถยนต์ หน้าปัดวงกลมใช้งานง่ายครับ


ลักษณะไฟหน้า 2 หลอดครับ


ฟิวส์ระบบไฟฟ้า เรียงจากซ้ายไปขวานะครับ
เขียว (30 A) เหลือง (20 A) ฟ้า (15 A) แดง (10 A)



นี่ครับอีกตัวอย่างของฟิวส์ขาด คือ ก่อนหน้านี้ผมมีผู้ช่วยคนเก่า ที่ชอบรื้อนู่น ทำนี่ และอาจจะไม่มีความชำนาญ ไปตัดต่อระบบไฟฟ้า ทำให้ฟิวส์ที่คุมการจ่ายไฟไปยังเครื่องเล่นซีดี วิทยุ มันขาด แล้วก็บอกผมว่าเครื่องเล่นซีดี-วิทยุ พัง ซ่อมไม่ได้ ผมเองก็ไม่เอะใขอะไรเพราะปัญหาเดิมเริ่มจากมีแผ่นซีดีค้าง แตกหักในเครื่อง ผมก็เห็นเศษซีดี จึงคิดว่าเครื่องเล่นนี้พังจริงๆ ทั้งๆ ที่อันที่จริงแล้ว การให้ความสำคัญอันดับต้นๆ ของการพิจาณาการแก้ปัญหาเรื่องรถยนต์นั้น ต้องคำนึงถึงฟิวส์ขาด ก่อนได้เลยครับ


ผมให้น้องเขาถ่ายรังใส่ฟิวส์ที่อยู่ใต้หน้าปัดหน้ารถมาให้เพื่อนๆ ดูครับ จะเห็นว่ามีแผงช่องใส่ฟิวส์เต็มไปหมดเลยครับ ซึ่งก็จะคล้ายๆ แผงไฟที่มมี Circuit Breaker ตุมไฟในจุดต่างๆ ภายในบ้านครับ ดังนั้นแล้วหากเพื่อนๆ ใช้รถ ก็ควรดูขนาดของฟิวส์ และควรซื้อเก็บไว้สำรอง ด้วยครับถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นมากครับ

ขอบคุณครับ

40


39


38


36


37


35


34


33


32


31


30


29


28


27


26


25


24


24 พฤษภาคม 2563 @ เกียร์หลุด ทำให้เข้าเกียร์ไม่ได้ เรื่องนี้ต้องถึงโตโยต้า (บางบัวทอง)

สวัสดีครับทุกท่าน เมื่อวันที่ 24 พ.ค.63 ภรรยาผมใช้รถโตโยต้า อินโนว่า พาคุณแม่ของผมไปซื้อกับข้าว ผัก ผลไม้ ที่ตลาดบางบัวทอง ปรากฎว่าพอไปส่งคุณแม่ที่หน้าบ้านเสร็จเรียบร้อย รถไม่สามารถเข้าเกียร์ออโต้ได้ จากนั้นพอเข้าเกียร์เดินหน้า รถกลับถอยหลัง จึงต้องรีบเบรคแล้วรีบดันเกียร์ไปที่ PARK จากนั้นไม่สามารถขยับเกียร์อะไรได้อีก จากนั้นเราก็โทรหาช่าง ของศูนย์โตโยต้า สาขาบางบัวทอง ว่าขอให้มาบริการนอกสถานที่ ซทางศูนย์โตโยต้า บริการดีมาก ด้วยการมาบริการให้ถึง 2 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 ช่าง 1 คนมากับรถบริการ โดยได้มีการมัดลวดไว้กับเกียร์เพื่อให้สามารถขับรถไปที่ศูนย์บริการ บริเวณสมบัติบุรี ให้ไเ้ชั่วคราวก่อน จากนั้นเนื่องจากทางผมไม่มีคนที่จะขับรถไปได้ จึงขอให้ทางช่างมาขับรถไปที่ศูนย์โตโยต้าแทนเรา เพราะไม่กล้าขับ

ครั้งที่ 2 ทางช่างมากับ 2 คน และขับรถโตโยต้า อินโนว่า ของผมไปที่ศูนย์บริการ จากนั้นก็ติดต่อประสานงานกันเรื่อง รายการซ่อมและงบประมาณต่างๆ (ตามเอกสารใบเสร็จรับเงิน)





ทางโตโยต้ายังได้มีการประเมินสภาพวัสดุอุปกรณ์ อะไหล่ ที่ควรต้องมีการเปลี่ยนใหม่ มาชุดใหญ่ด้วยครับ ในเร็ววันนี้ก็คงต้องเร่งทำงานหาเงินมาซ่อมแซมพี่อินโนว่า อันเป็นที่รักของครอบครัวเรา ต่อไปครับ




ขอบคุณครับ

9 เมษายน 2563 @ พาปุยฝ้ายไปตรวจร่างกาย (ระบบแก๊สอัตโนมัติ) เพื่อทำภาษีรถยนต์ครับ

สวัสดีครับทุกท่าน เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ปุยฝ้าย (ซูซูกิ เอพีวี) คันนี้อยู่กับผมมาแล้ว 9 ปี ถึงเวลาทุกๆ ปีต้องพาไปเช็คสภาพ และปีนี้ก็ถึงรอบที่ต้องตรวจสภาพระบบแก๊ส เพราะว่าน้องปุยฝ้ายทานน้ำมันเบนซินเยอะมากๆ จึงต้องติดระบบแก๊สอัตโนมัติ ณ ตอนนั้น ปุยฝ้ายเป็นรถคันแรกของผม ปุยฝ้ายทำหน้าที่สำคัญๆ หลายครั้ง ปุยฝ้ายเป็นเหมือนสิ่งมีชีวิตที่ตัวผมเองก็บอกไม่ถูกว่าทำไมถึงรู้สึกอย่างนั้นครับ ยาวไปจะดราม่า อีกพักใหญ่ๆ มีเวลาจะเปิดตัวรถทุกๆ คัน ครับ บทความนี้จึงเพียงแบ่งปันข้อมูลการดำเนินการต่างๆ กับปุยฝ้ายครับ

ผมคงเริ่มจาก ปุยฝ้าย ภาษีจะหมดวันที่ 11 เมษายน 2563 ซึ่งผมมีความจำเป็นต้องใช้รถปุยฝ้าย 2 วันคือ 9-10 เมษายน 2563 ก่อนวันหมดอายุพอดี ผมจึงให้คุณเทพฤทธิ์ ศรีคงรักษ์ ช่วยพาปุยฝ้าย หลังไปเดินเรื่องที่ยุติธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้พาปุยฝ้ายไปจุดตรวจสภาพรถ เจ้าประจำในพื้นที่ อ.บางบัวทอง โดยดำเนินการดังนี้

  • ตรวจสภาพรถยนต์ เพื่อต่อภาษี ค่าใช้จ่าย 300 บาท
  • ทำ พรบ. ภาคบังคับ ค่าใช้จ่าย 645 บาท
  • ต่อภาษีรถยนต์ ค่าธรรมเนียม 892 บาท
  • ค่าบริการของจุดตรวจสภาพ คิดค่าใช้จ่ายรวม 300 บาท
  • ตรวจสภาพระบบแก๊ส ในรถยนต์ ค่าใช้จ่าย 535 บาท 

ส่วนปลายเดือนนี้ ประกันภัยชั้น 3+ ก็จะหมดอายุด้วยเช่นกัน เรียกว่า เดือนเมษายน 2563 น้องปุยฝ้าย ก็จองคิวค่าตัวไปทั้งหมดนะครับ

เช็คสภาพระบบแก๊สอัตโนมัติ ครับ


คุณเทพฤทธิ์ สรีคงรักษ์ เดี่ยวมือหนึ่ง ที่คอยเคลียร์งานหลายๆ เรื่องให้ผมครับ

รายละเอียดของจุดตรวจสภาพรถยนต์ บริการดีมาก มีโทรศัพท์ที่หัวกระดาษ ไปใช้บริการได้นะครับ

ใบหนังสือต่ออายุระบบแก๊ส หลังการตรวจสภาพระบบแก๊ส เรียบร้อยครับ

คุณเทพฤทธิ์ เป็นอีกคนที่ใกล้ตัวผม และเป็นคนที่บริหารเวลาดีมากคนหนึ่ง หลังตรวจสภาพรถยนต์ ก็รีบไปตรวจสภาพระบบแก๊ส จากนั้นรีบนำใบตรวจสภาพระบบแก๊ส ไปให้จุดตรวจสภาพรถยนต์ เพื่อดำเนินการต่อ พรบ. ต่อภาษีรถยนต์ ต่อไป สิ่งที่ผมเห็นเรื่องธุรกิจนี้นะครับ ถ้าเป็นผม ผมสนใจธุรกิจที่เชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่างเข้าด้วยกันแบบนี้ครับ

ช่วงการรณรงค์อยชู่บ้าน หยุดแพร่เชื่อไวรัสโควิด-19 ก็เป็นอีกวันหนึ่งที่ไม่ต้องออกนอกบ้าน แต่สบำหรับปกติมาก เพราะว่า ผมพิการรุนแรงอยู่แล้ว ทั้งหมดที่พิมพ์ให้อ่าน ผมไปทำเองไม่ได้อยู่แล้วครับ


ขอบคุณครับ

23 มกราคม 2563 @ ห่างกันแค่ 1 สัปดาห์ พา "อินโนว่า" ไปหาหมอ จัดการหนักรอบสองต่อเนื่องครับ

สวัสดีทุกท่านครับ ต่อเนื่องจากเมื่อสัปดาห์ก่อนได้พาพี่ว่า (โตโยต้า อินโนว่า) ไปถ่ายน้ำมันเครื่องตามรอบ 4 หมื่นกิโลเมตร หรือไมล์จริงที่ 260,000 กิโลเมตร ปรากฎว่าหม้อน้ำ (รุ่นจุดต่อเป็นพลาสติก) รั่ว ทำให้น้ำหล่อเย็นกระเด็นเลอะเทอะ บวกกับทางช่างพบว่า ต้องเปลี่ยนท่อยางของระบบน้ำมันทั้งหมด บวกกับต้องทำความสะอาดระบบแอร์อีก รวมทั้งหมด 3 ระบบ ทำให้ต้องสั่งอะไหล่ไว้ก่อน พร้อมวางเงินมัดจำ แล้วจึงจะนัดหมายมาเปลี่ยนอะไหล่ทั้ง 3 ระบบ ซึ่งก็ได้นัดหมายเป็นวันที่ 23 ม.ค.63 

เล่าให้ทุกท่านอ่านต่อว่า ก็มีหงุดหงิดนิดหน่อย ตรงที่ไม่ได้รับรถภายในวันเดียวกัน ต้องรออะไหล่อีก 3 รายการที่ช่างพึ่งไปตรวจเจอ เพราะอยู่ด้านใน มองไม่เห็น/ หรือรื้อแล้วมันขาดก็ไม่แน่ใจ เพราะเราก็ไม่รู้อะไรมาก ผมกับภรรยาบอกตามตรงว่า แทบไม่รู้เรื่องเครื่องยนต์เลย อาศัยว่าไว้ใจช่างของศูนย์โตโยต้า (นนทบุรี) อย่างเดียว โดยสาขาที่ใช้บริการคือ ศูนย์โตโยต้าบางบัวทอง



อะไหล่เก่าที่เขาส่งคืนมาด้วย ซึ่งผมเองก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร
แต่ก็ต้องขอมา เพื่อไม่ให้ช่างสามารถนำไปวนเวียนกับลูกค้ารายอื่นได้












การขออะไหล่เก่ามานั้น นอกจากผมจะได้รับคำแนะนำมาจากพี่ๆ หลายท่าน ว่าทำแล้วขอมา มาทิ้งเองก็ยังดี เพราะว่าจะได้ไม่สามารถนำอะไหล่เก่าไปเวียนใช้กับรถคันอื่นได้ แต่อีกเหตุผลคือ ผมอยากนำตัวหม้อน้ำ ไปบริจาคเผื่อจะเป็นประโยชน์กับผู้อื่นได้ โดยได้ฝากน้องขับรถ (คุณเทพฤทธิ์) ช่วยนำไปบริจาคให้ครับ นำข้อมูลมาแบ่งปันครับ

ครอบครัวของผม อาจจะโชคดี บนพื้นฐานของการบริหารจัดการ คือ เราไม่รู้เรื่องรถ เราไม่มีคามรู้เรื่องการซ่อมแซมรถ อีกทั้งผมเองก็เป็นคนพิการรุนแรง เพียงนึกสภาพว่า ถ้ารถของเราไปตายกลางทาง คงจะงานเข้าแน่นอน ผมเองก็ช่วยอะไรภรรยาไม่ได้ จึงพยายามนำรถเข้าเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามระยะ และหากระยะใดถึงระยะต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ อะไหล่ ตามอายุการใช้งาน ก็จะทำตามที่ทางศูนย์รถยนต์แนะนำตลอด ดังนั้นรถของเราทุกคันถึงแม้จะเก่า แต่ก็จะไม่จุกจิกเสียหาย ตายกลางทาง ให้เราต้องทุกข์ใจ ครับ

16 มกราคม 2563 @ ข้อต่อพลาสติกของหม้อน้ำรถโตโยต้า อินโนว่า หมดอายุ แม่ย่านางบอกให้เข้าศูนย์โตโยต้าจ๊ะ

สวัสดีครับทุกท่าน สำหรับบทความตอนนี้ ปนความเชื่อส่วนบุคคลของครอบครัวเรา หรืออาจจะเรียกว่า "ความเชื่อส่วนครอบครัว" แทนก็ได้นะครับ แต่จะว่าไปก็เกี่ยวข้องกับ เรื่องระเบียบวินัยในการใช้ชีวิตอีกทางหนึ่งก็ว่าได้ครับ ที่ครอบครัวเราเชื่อเหมือนคนส่วนใหญ่ว่า รถที่เราใช้งานนั้นมี "แม่ย่านางรถ" มีพี่ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่มีสัมผัสพิเศษ ก็ยังเคยบอกว่าแม่ย่านางรถโตโยต้าอินโนว่า คันนี้ ท่านเป็นผู้หญิงผมยาว นั่นเป็นเรื่องที่ครอบครัวเราฟังมา แต่สิ่งสำคัญคือ การดูแลรถอย่างสม่ำเสมอ สำรวมเวลาใช้งานรถ ไม่คิดหรือทำเรื่องไม่ดีในรถ แน่นอนว่า มักเกิิดเรื่องดีๆ กับครอบครัวเรามากมายตลอดเวลาที่เราใช้รถคันนี้ครับ

ครั้งนี้ก็เช่นกัน สืบเนื่องจากผมเองพิการรุนแรง ภรรยาก็ไม่ค่อยรู้เรื่องรถสักเท่าไหร่ เราจึงเน้นเข้าศูนย์บริหารรถของแต่ละยี่ห้อ ก่อนหน้านี้เราไปใช้บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องที่ปั๊มน้ำมันชื่อดังแห่งหนึ่ง เป็นการคั่นคิวก่อนเข้าศูนย์โตโยต้า (บางบัวทอง) ซึ่งเราสองคนแทบไม่เคยเปิดหน้ากระโปรงรถเลยก็ว่าได้ ครั้งนี้เราครบรอบตรวจเช็ครถที่ 270,000 กิโลเมตร จึงเป็นการตรวจเช็คใหญ่ และมีการสลัลยางด้วย พอเปิดกระโปรงรถแล้วเห็นสภาพรถ ถึงกับเศร้าใจ เพราะข้อต่อพลาสติดของหม้อน้ำรั่ว จนน้ำหล่อเย็นกระเด็นเต็มห้องเครื่อง ที่ช่างแจ้งคือ สงสัยว่าทำไมรถถึงไม่ร้อน เพราะว่าเวลาผมไปไหนมาไหน แทบจะสตาร์ทรถทิ้งไว้ตลอด แต่นั่นละที่เป็นความเชื่อของครอบครัวเราว่าแม่ย่านางคอยช่วยไว้

ถึงตรงนี้นอกจากจะต้องถ่ายน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนยาง ตรวจสภาพรถแล้ว จึงต้องเข้าคอร์สครั้งใหญ่ ซึ่งก็ต้องทำทั้งหมด 3 เรื่อง คือ ระบบหม้อน้ำ ระบบน้ำมัน และระบบเครื่องปรับอากาศ-กรองอากาศ จึงได้ชำระเงินมัดจำ และการจองอะไหล่ล่วงหน้า ตามเอกสารแนบใบเสร็จ และใบจองอะไหล่ ที่นำมาแบ่งปันเพื่อนๆ ครับ

สภาพห้องเครื่องที่ดูแย่มากๆ ในสายตาครอบครัวเรา เพราะเขร่อไปหมด

จุดข้อต่อพลาสติดที่ออกจากหม้อน้ำ ที่ช่างแจ้งว่าไม่สามารถซ่อมได้


จุดข้อต่อสายท่อน้ำมันที่ต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด

รถรอเข้าคิวตรวจสภาพรถ และดำเนินการ

สภาพห้องเครื่องที่ได้รับการทำความสะอาดแล้ว และรออะไหล่ 3 ระบบ


แต่พอภรรยาขับรถออกมา ปรากฎว่า พวงมาลัยเอียง ผมจึงปรึกษากัน ภรรยารีบนำรถเข้าศูนย์โตโยต้า ซ้ำอีกรอบ เพื่อให้ตั้งศูนย์ถวงล้อใหม่ เพราะพวงมาลัยเอียง เวลาจับพวงมาลัยตรงรถจะเอียงซ้าย ซึ่งช่างขอเวลาแก้ไขอีก 1 ชม. ทำให้ภรรยาต้องนั่งรถ TAXI ไปทำธุระต่ออีกแห่ง จากนั้นกลับมารับรถก็เป็นปกติดี พวงมาลัยไม่เอียงแล้ว ตรงนี้ทางเราก็ขอแนะนำเพื่อนๆ ว่า หากมีสิ่งผิดปกติก็ควรกลับไปให้ทางศูนย์โตโยต้า รับผิดชอบ ซึ่งการเข้าศูนย์ฯ จะมีข้อดีคือ เราสามารถตำหนิได้ และศูนย์ฯ ต้องรับผิดชอบ เพราะมีประกันทุกครั้งที่เราใช้บริการครับ

ลักษณะพวงมาลัยที่เอียง เมื่อขับทางตรงครับ

ที่เห็นแปะทองคำแผ่นบนพวงมาลัย ไม่ใช่รถป้ายแดงนะครับ แต่เมื่อรถมีอายุครบรอบ 12 ปี ทางเราจึงขอให้คุณแม่ทั้งสองของเรา ช่วยอวยพร และแปะทองคำแป่นให้ หรือทำบุญให้กับแม่ย่านางรถด้วยในตัวครับ

ใบเสร็จรับเงินค่าตรวจสภาพรถที่ 270,000 กิโลเมตร -1

ใบเสร็จรับเงินค่าตรวจสภาพรถที่ 270,000 กิโลเมตร -2

ใบรายการจองอะไหล่ สำหรับทำ 3 ระบบ พี่อินโนว่าคงดีใจที่ทำรถให้ใหม่ครับ -1

ใบรายการจองอะไหล่ สำหรับทำ 3 ระบบ พี่อินโนว่าคงดีใจที่ทำรถให้ใหม่ครับ -2


ขอบคุณครับ

12 มกราคม 2562 @ ถึงคราวเคลือบแก้วรถปาเจโร่ (วายุ) PAJERO เสียที แต่เป็นบริการเคลือบแก้วที่บ้านครับ

สวัสดีครับเพื่อนๆ ที่บ้านผมกับครอบครัวมีรถใช้งานประจำบ้านอยู่ 2 คัน คือ รถปาเจโร่ กับอินโนวา และยังมีรถสำหรับใช้ในงานโครงการอีก 2 คัน คือ รถซูซูกิเอพีวี กับรถอีซูซุไฮเรนเดอร์ ถ้าผมมีโอกาสจะเล่าเรื่องรถทั้ง 4 คันให้ได้อ่านกันว่าเกี่ยวพันกันอย่างไร ข้ามไปเลยนะครับ กลับมาถึงบทความนี้กันดีกว่าครับ คือ การเคลือบแก้วรถ ซึ่งต้องยอมรับว่า ในระยะหลังหลายปีมานี้ การเคลือบแก้วรถ นั้นมาแรงมากๆ เป็นที่นิยม แม้ว่าจะมีราคาสูงก็ตาม จึงตัดสินใจใช้บริการคุณปริญญา สวาคฆพรรณ 099-397-6836 ซึ่งคุณปริญญา เป็นเพื่อนสมัยมัธยม ของผมเองด้วยครับ

จึงได้รับคำปรึกษาว่า ให้ผมนำรถไปขัดสี เพื่อเตรียมพื้นผิวก่อนจะเคลือบแก้ว รอก่อนหน้า 1 วัน ผมนัดเคลือบแก้วที่บ้าน ในวันเสาร์ที่ 12 มกราคม 2562 จึงนัดร้านคาร์แคร์ใกล้บ้านมานำรถไปขัดสีผิว หรือเรียกว่า ขัดขนแมวก่อน ปรากฎว่า ขัดออกมาไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เก็บงานไม่เรียบร้อย จึงทำให้ช่างเคลือบแก้ว ต้องมาเก็บงานที่ทำไว้ไม่ดีของช่างขัดสี ประมาณ 2 ชั่วโมง น่าจะได้ครับ เท่าที่ผมมองเห็นผ่านกล้องวงจรปิด บวกกับเคลือบแก้วอีกกว่า 3 ชั่วโมง เบ็ดเสร็จ 5 ชั่วโมงพอดี

ขั้นตอนการขัดสีผิวรถ เก็บรอยขนแมว



คราบรอบอุปกรณ์ต่างๆ ที่ติดกับตัวสีรถ ที่ไม่เก็บการทำความสะอาด

คราบน้ำยาขัดสีรถที่เกาะข้างประตูรถ

คราบน้ำยาขัดสีรถ



สกปรกรอบตัวอักษร V6 ที่ต้องทำความสะอาดก่อนเคลือบแก้วสีรถ



คราบน้ำยาที่เกาะในช่องจ่ายน้ำมัน

คราบน้ำยาขัดสีรถที่เกาะรอบดวงไฟใกล้กับสีผิวรถ


คราบน้ำยาขัดสีรถที่เกาะที่ขั้นบันไดรถที่ต้องเคลือบแก้วด้วย


น้ำยาขัดสีรถเกาะที่ใบปัดน้ำฝน

ขั้นตอนการเตรียมพื้นผิวก่อนเคลือบแก้ว

เท่าที่ผมมองผ่านกล้องวงจรปิดนะครับ ช่างจะทำการติดกระดาษกาว เพื่อสะดวกในการเคลือบแก้ว หลังเคลือบแก้วเสร็จก็ดึงลอกออก ทำให้สะดวกเวลาเคลือบแก้ว และป้องกันไม่ทำให้น้ำยาหลุดไปในร่องแล้วเกิดคราบน้ำยาเกิดขึ้นครับ เมื่อเตรียมพื้นผิวสะอาดแล้ว ก็ลงน้ำยา 1 คน พร้อมขัดเงา 1 คน ทำคู่กันไป 2 คน อย่างตลอดทั่วทั้งคัน ทำไล่ไปทีละส่วนๆ จนครบรอบคัน









อุปสรรคสำคัญของการเคลือบแก้วที่ผมเห็น และคุณปริญญา ได้อธิบายให้ผมฟัง ณ บริเวณบ้านที่ผมอาศัยคือ มีลมแรง มีฝุ่นขนาดใหญ่มาก ทิ้งไว้สักครู่ ฝุ่นจะเกาะที่รถทันที ทำให้ต้องรีบและคอยทำความสะอาดพื้นผิวตลอดเวลา ปัจจัยในข้อนี้ ทำให้การเคลือบแก้วที่บ้าน ต่างจากการเคลือบแก้วที่อู่ หรือห้องเคลือบแก้ว ที่มีระบบปรับอากาศ คือ ช่างก็จะไ่ร้อน การมาทำที่บ้าน คนก็จะร้อน และน้ำยาเคลือบแก้วจะแห้งเร็ว ทำให้ต้องรีบ แต่คุณปริญญา ก็มีความเข้าใจดีว่า บางครั้งหรือบางราย ลูกค้าก็จะไม่ว่าง ไม่สะดวก แต่มีความต้องการให้ไปบริการที่บ้านมากกว่า จึงได้เปิดให้บริการ "เคลือบแก้วที่บ้าน" ขึ้้นมา อีกทั้ง คุณปริญญา ยังกำลังทำธุรกิจส่งเสริมอาชีพ ช่างเคลือบแก้วที่บ้าน ด้วยจึงอยากลงมือด้วยตนเอง เพื่อนำประสบการณ์ทั้งหมดมาพัฒนาธุรกิจทางด้านนี้

ส่วนตัวผมเห็นความมุ่งมั่นของคุณปริญญา สวาคฆพรรณ ที่ทุ่มเท และเอาใจใส่ รถของผมและครอบครัว เพราะครอบครัวเราก็รักรถทุกคันมากๆ ถึงกับมองว่ารถทุกคันมีชีวิต เราตั้งชื่อรถทั้ง 4 คัน ว่า "ปุยฝ้าย เมฆา วายุ ภูผา" เพราะเราเชื่อว่ารถทุกคัน มีแม่ย่านางรถ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองรถทุกคัน รถที่บ้านทุกคัน แทบไม่มีอุบัติเหตุ ไม่ชนหนัก มีบ้างเล็กๆ น้อยๆ ที่ครูดกับฟุตบาทบ้าง มีรถมาเฉี่ยว มีมากสุดคือ มีคนเคยเอารถเราไปถอยโดนต้นไม้ 1 ครั้งเท่านั้น นอกนั้นจะเป็นลักษณะว่า อยู่ดีๆ กระจกหลังก็แตกเท่านั้นเอง


นอกจากความเป็นเพื่อนกันแล้ว สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ คุณปริญญา จะมองรถทุกคันเหมือนเป็นรถของตัวเอง จึงตั้งใจทำออกมาให้ดีที่สุด ทำให้ผมไว้วางใจ สบายใจที่จะใช้บริการคุณปริญญา สำหรับรถอีก 3 คันที่เหลือ ซึ่งในสัปดาห์หน้า ครอบครัวเราจะให้คิวทำรถอินโนว่า (เมฆา) อีกคันครับ ตั้งใจว่าปลายปี ก็จะทำอีก 2 คันที่เหลือด้วยครับ

สำหรับราคานั้น ผมขอเริ่มจากการขัดสีรถก่อน คุณปริญญา จะใช้วิธีแนะนำให้เจ้าของรถ ขัดสีรถกับผู้ให้บริการใกล้บ้านก่อน เพราะเจ้าของรถแต่ละท่านก็จะมีร้านล้างรถประจำอยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะรับขัดสีรถด้วย ตรงนี้คุณปริญญา มีแนวคิดว่า ไม่อยากไปรุกธุรกิจของใคร มีมุมมองว่า การเคลือบแก้วที่บ้าน นั้นควรเป็นธุรกิจต่อยอดจากธุรกิจอื่น ซึ่งตรงนี้ผมก็มีมึมมองชื่นชมว่า มีคุณธรรมที่จะแบ่งปันกันในวงการทำสี เคลือบแก้ว ให้อยู่กันแบบพึ่งพาอาศัยกันครับ

ทำให้ราคาการเคลือบแก้วก็จะอยู่ตรง การทำความสะอาดพื้นผิว และการเคลือบแก้ว เท่านั้น จึงมีราคาไม่สูงเกินไป อยู่ที่ราคาไม่ถึง 1 หมื่นบาท ที่สำคัญคือ การใช้น้ำยาเคลือบแก้ว ยี่ห้อดังจากญี่ปุ่น นิปปอนเพ้นท์ (Nippon Paint) รุ่น Titanium หรือเรียกว่า Titanium Glass Coating ของ Nipon Paint ด้วยครับ สำหรับผมก็เรียกว่า คุ้มที่การได้รับบริการและคุณภาพของสินค้า ควบคู่กับ ค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงเกินไป จับต้องได้กับเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน ที่ต้องไม่ฟุ่มเฟือย และเหมาะสมกับคนรักรถอย่างเรานะครับ เห็นคุณปริญญา พูดว่า "ใช้บริการเคลือบแก้วที่บ้าน ของปริญญาแล้ว เหมือนมีญาติเพิ่มขึ้นอีก 1 คน" ครับ


ขอบคุณครับ